วิธีการตัดเหล็ก เลือก Cutting Tool อย่างไร ให้เหมาะสมกับชิ้นงาน
อีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญ ที่ทำให้ชิ้นงานถูกสร้างจนเป็นรูปร่างได้สำเร็จก็คือ การตัดเหล็ก ด้วยเครื่องมือ Cutting Tool แต่เชื่อหรือไม่ว่า ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่มองข้ามรายละเอียดของการเลือก Cutting Tool ให้เหมาะสมกับวัสดุ และไม่ได้ใส่ใจขั้นตอนนี้เท่าที่ควร อาจทำให้ชิ้นงานที่ออกมามีคุณภาพยังไม่ตรงใจเท่าไรนัก เราจึงอยากชวนมาดูวิธีการตัดเหล็ก รวมทั้งการเลือก Cutting Tool ให้เหมาะสมกับชิ้นงานในบทความนี้กัน
Cutting Tool คืออะไร? และความสำคัญของการเลือก Cutting Tool
ก่อนที่เราจะพาไปดูวิธีการเลือก Cutting Tool ให้เหมาะสมกับชิ้นงาน เราอยากพูดคุยถึงความสำคัญของวิธีการตัดเหล็กและการเลือก Cutting Tool ว่า ทำไมจึงควรที่จะใส่ใจการเลือกเครื่องมือให้มากขึ้น ลองนึกภาพง่ายๆ ดูว่า คุณต้องตัดกระดาษเป็นลวดลายสวยงาม แล้วกรรไกรที่มีขนาดไม่เหมาะกับการใช้งานหรือความคมไม่มากพอ ลวดลายที่ได้ก็อาจไม่สวยงามตรงใจกับที่คิดไว้เท่าไหร่ กับการใช้งาน Cutting Tool ในอุตสาหกรรมเองก็เช่นกัน
Cutting Tool คือ เครื่องมือตัดเฉือนวัสดุให้กลายเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป หากความแม่นยำหรือประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพของชิ้นงานคุณด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการหรือองค์กรใดที่มีกระบวนการต้องใช้ Cutting Tool ในการตัดวัสดุ ไม่ควรมองข้ามรายละเอียดเรื่องการเลือกเครื่องมือเหล่านี้เด็ดขาด
กระบวนการทำงานด้วย Cutting Tool
เครื่องมือตัดเหล็ก ไม่ได้มีแค่เครื่องจักรที่มีแผ่นเหล็กหมุนด้วยความเร็วสูงอย่างที่หลายคนน่าจะนึกออกเพียงอย่างเดียว เพราะการทำงานในอุตสาหกรรมนั้นหลากหลายมาก ทำให้ความต้องการใช้งานวัสดุไปสร้างเป็นชิ้นส่วนลักษณะที่แตกต่าง ทำให้วิธีการตัดเหล็กด้วย Cutting Tool ไม่ได้มีแค่วิธีเดียว ดังนั้น มาดูกันดีกว่าว่าเครื่องมือการตัดโลหะ Cutting Tool มีอะไรบ้าง
- การกัด (Milling)
การกัดเป็นหนึ่งในกระบวนการตัดเหล็ก ด้วยการใช้ใบมีดตัดหรือกัดผิว แบบหมุนรอบตัวเองอยู่กับที่ เพื่อให้ผิวงานสวยเรียบเนียน ไปจนถึง กัดร่อง กัดบ่า กัดเฟือง หรือสร้างรู เกลียว โพรง ฯลฯ
- การเจาะ (Drilling)
การเจาะเป็นกระบวนการตัดเฉือนวัสดุ โดยใช้เครื่องมือที่มีความคมตัดส่วนปลายอย่างดอกสว่านมาเจาะ หมุนรอบด้วยความเร็วสูงจนทำให้วัสดุเกิดรู มักใช้เพื่อให้เกิดการจับยึดหรือเชื่อมต่อกับชิ้นส่วนอื่น
- การกลึง (Turning Operation)
หนึ่งในวิธีการขึ้นรูปชิ้นงานโลหะตามต้องการคงหนีไม่พ้นการกลึง ด้วยความที่ให้ชิ้นงานหมุนรอบใบมีดกลึง จนทำให้เกิดอุณหภูมิสูงถึง 1,700 องศาฟาเรนไฮด์ สามารถใช้ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะ เก็บผิว กลึงตามยาว ขึ้นรูป ฯลฯ
- การทำเกลียว (Threading)
การทำเกลียวเป็นการกัดเหล็กแล้วขูดวนจนเป็นรอยรอบๆ เพื่อให้เกิดร่องเกลียวบนผิวงาน สามารถสร้างเกลียวได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะการต๊าป การกัดเกลียว การกลึงเกลียว การเดินวนกัดเกลียว
- การคว้าน (Boring)
การคว้าน ลองนึกภาพเหมือนการคว้านผลไม้ กระบวนการแปรรูปนี้จะใช้วิธีตัดเฉือน โดยหลังจากที่วัสดุที่ผ่านการเจาะรู บางครั้งก็จะถูกนำมาคว้าน เพื่อทำการขยายรูให้มีขนาดความกว้างหรือลักษณะตามที่ต้องการ
- การรีม (Reaming)
การรีม เป็นการเจาะรูคว้าน โดยดอกสว่านขนาดที่เหมาะสม เพื่อเก็บรายละเอียดงานให้มีความเรียบเนียนสม่ำเสมอ หลังจากที่มีการตัด ด้วยการคว้านอย่างละเอียดให้ชิ้นงานมีความเรียบร้อยมากขึ้น สามารถเลือกความคมและขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรูให้เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานของตัวเองได้
เทคนิคการเลือก Cutting Tool ให้เหมาะกับชิ้นงาน
สำหรับใครที่พอเข้าใจความสำคัญของการเลือก Cutting Tool Machining ว่าคืออะไรกันไปแล้ว แต่ยังไม่มั่นใจว่า ควรเลือกยังไงให้เหมาะกับงานของกิจการตัวเองดี ลองพิจารณาปัจจัยดังต่อไปนี้ดู
- เข้าใจวัตถุประสงค์ที่จะใช้งาน
ไม่ว่าจะทำงานอะไรหรืออยู่ในขั้นตอนไหนก็ตาม การตั้งวัตถุประสงค์ที่ดี รู้ว่า ต้องการตัดเหล็กไปใช้งานอะไร วัสดุที่จะตัดมีค่าความแข็งมากน้อยแค่ไหน ก็จะช่วยให้วางแผนลักษณะชิ้นงาน เลือกวิธีการตัดเหล็กและอุปกรณ์การตัด การเจาะ การกัด รวมถึงวัสดุของตัว Cutting Tool ให้เหมาะสมกับความต้องการนำไปใช้งาน
บทความที่เกี่ยวข้อง: การทดสอบความแข็งของวัสดุ (Hardness Test) มีกี่ประเภท? สำคัญยังไง?
- ระยะเวลาในการทำงาน
ยิ่งงานอุตสาหกรรม หรือธุรกิจที่ต้องใช้ชิ้นส่วนเหล็กเป็นจำนวนมาก ต้องการงานที่มีความแม่นยำสูงในเวลาจำกัด การเลือกเครื่องมือ Cutting Tool ที่เหมาะสมกับการใช้งาน ถือเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะจะช่วยทำให้คุณสร้างชิ้นงานได้ทันเวลาส่งมอบหรือนำไปผลิตต่อไป ดังนั้น อย่าลืมนึกถึงระยะเวลาในการทำงาน เน้นลดเวลา แต่เพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจ
- ความคุ้มค่า
หากคุณอยากลงทุนกับเครื่องตัดเหล็ก อย่ามองแค่เรื่องราคา แต่ต้องมองให้ลึกไปถึงเรื่องความคุ้มค่า เพราะอุตสาหกรรมทั้งหลายจะต้องใช้งานเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ในระยะยาวอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ควรพลาด ดูเรื่องของคุณภาพและโครงสร้างเครื่อง Cutting Tool ให้เหมาะกับการใช้งาน เครื่องควรทำจากโลหะหนาที่มีความแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง เหมาะกับโรงงานอุตสาหกรรม คุณสมบัติและรูปแบบการทำงานช่วยลดต้นทุนการผลิตลง ฯลฯ
- คุณสมบัติของเครื่องมือตัด
การเลือกวัสดุเครื่องมือตัด (Tool Material) ที่เหมาะสมนั้นสำคัญมาก เพราะในการใช้เครื่องมือตัดตัดวัสดุ ปัจจัยภายนอกต่างๆ จะส่งผลทำให้เครื่องมืออ่อนตัวลงจนไม่สามารถใช้งานได้ และอาจเกิดความเสียหายขึ้นก่อนอายุขัยจริงของตัวเครื่องมือ ดังนั้น วัสดุของเครื่องมือตัดจะต้องมีความสามารถในการรับแรงและพลังงานที่เกิดขึ้นในกระบวนการตัด (Toughness) สามารถคงความแข็งไว้ได้ในอุณหภูมิที่สูง (Hardness) ต้านทานการสึกหรอ (Wear Resistance) และทนทานต่อปฏิกิริยาทางเคมีและความร้อน (Thermal and Chemical Stability)
สรุป
เครื่องมือทุกชิ้น โดยเฉพาะ Cutting Tool สำหรับการตัดเหล็ก คืออีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ชิ้นงานของคุณออกมาดีและกิจการสามารถก้าวไปสู่จุดที่เรียกว่า ประสบความสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมใส่ใจในคุณภาพทุกขั้นตอน ไม่เว้นแม้แต่การเลือกและดูแลวัสดุเครื่องมือตัดอย่างเหมาะสม เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดอุปสรรค เพิ่มโอกาส เสริมสร้างการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับกิจการของคุณให้ก้าวไปได้อีกไกล